เจดีย์ยุทธหัตถี อนุสรณ์ดอนเจดีย์ / สถาปนิก : พระพรหมพิจิตร
ที่มาภาพ : หนังสือสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร
สถาปัตยกรรมไทย : คติการสร้างเจดีย์
ดังที่เคยได้กล่าวไว้ในบทความ A-21-พระบรมสารีริกธาตุเสด็จกลับเมือกุสินารา ว่าความเป็นมาของการสร้างเจดีย์นั้น ต้องนับเริ่มต้นจาก “สถูป” กล่าวคือ ธรรมเนียมโบราณเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างเจดีย์ในบ้านเราซึ่งสืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนา โดยเดิมในอินเดียก่อนสมัยพุทธกาลได้มีการถวายพระเกียรติแด่พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปด้วยการสร้างสถูปเก็บอัฐิไว้เพื่อให้มหาชนได้สักการบูชา แสดงถึงการเทิดทูนพระเกียรติคุณแห่งกษัตริย์ไว้อย่างดีที่สุด โดยการสร้างเป็นเนินดินพูนขึ้น กั้นฉัตรด้านบนเพื่อแสดงถึงฐานานุศักดิ์แห่งพระองค์ท่าน และวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ ก็ได้รับการปฏิบัติต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยวิธีการคล้ายคลึงกัน ดังที่พระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าถึงวิธีการกับพระศพภายหลังการปรินิพพาน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสตอบไว้ว่าบรรดากษัตริย์จะจัดการกับพระศพดังพระมหากษัตริย์ และบรรจุพระบรมอัฐิไว้ให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้บูชา โดยยังได้ตรัสไว้ว่าการบรรจุอัฐิในสถูปนี้จะกระทำแก่บุคคลสี่กลุ่มคือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระอรหันต์สาวก และพระเจ้าจักรพรรดิราช
คำว่าสถูปจึงเป็นคำดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมที่บรรจุอัฐิของบุคลสำคัญดังกล่าวแล้ว และเป็นคำภาษาสันสกฤตที่แปลว่า เนินดินสำหรับฝังศพ ส่วนคำว่าเจดีย์นั้น มาจากภาษาบาลีที่ว่า เจติยะ แปลว่าสิ่งซึ่งเป็นเครื่องระลึกถึง หรือสิ่งซึ่งเป็นที่เคารพบูชา เจดีย์ในทางพระพุทธศาสนาจึงเป็นการสร้างสถาปัตยกรรมในชั้นหลังจากสถูปอีกทอดหนึ่ง เนื่องจากภายหลังจากพุทธปรินิพพานแล้วนั้น ได้มีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเพียง 8 ส่วนเพื่อนำไปบรรจุไว้ในสถูป หากเมืองใดหรือผู้ใดต้องการกราบไหว้กระทำการบูชาก็ออกจะเป็นการยากลำบากหากอยู่ไกลจากสถานที่ดังกล่าวนั้น จึงได้สร้างเจดีย์เป็นเครื่องระลึกถึงสถูปสำคัญเหล่านั้นแทน
พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ สาธารณรัฐอินเดีย
สถาปนิก : อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ ภาคีราชบัณฑิต
การสร้างเจดีย์ในบ้านเราก็เป็นในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ กล่าวคือเพื่อระลึกถึงสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เอง และรูปแบบของการสร้างเจดีย์ได้วิวัฒน์ไปตามวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละแห่ง แต่คงแก่นแกนทางการออกแบบไว้คล้ายกันคือ การสร้างสถาปัตยกรรมที่เน้นแกนเข้าสู่จุดศูนย์กลาง และส่งทรงขึ้นสู่แกนดิ่งทางตั้ง ประกอบด้วยฐานรับองค์เรือนธาตุและส่วนยอด การปรากฏของเครื่องแสดงฐานานุศักดิ์แบบจักรพรรดิที่ปรากฏในสถูปต้นแบบนั้นก็กลายรูปมาเป็นบัลลังก์และองค์ประกอบส่วนยอดแทน คตินิยมอื่นๆ ก็ได้รับการออกแบบเพิ่มเติมตามลำดับเวลา และสัดส่วนขององค์เจดีย์ก็เปลี่ยนไปตามความคิดความชอบของผู้รังสรรค์ในแต่ละยุคสมัยเช่นกัน แต่เจดีย์ที่ดูจะเป็นที่จดจำและนึกถึงกันโดยทั่วน่าจะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง เช่นที่ปรากฏในวัดพระแก้ว เป็นต้น สมัยก่อนการสร้างวัดมักจะมีการสร้างเจดีย์เป็นประธานของวัด เช่นในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา แต่คตินิยมดังกล่าวได้ลดความสำคัญลงในช่วงปลายสมัยอยุธยา และหมดความนิยมลงในสมัยรัตนโกสินทร์โดยให้ความสำคัญกับการสร้างอุโบสถ วิหาร เป็นสำคัญแทน
การสร้างเจดีย์ดูจะเป็นคติอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าหรือพระอริยสงฆ์เป็นสำคัญมานาน สิ่งซึ่งเป็นประธานและเนื้อหาสำคัญของงานออกแบบและก่อสร้างจึงเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด แต่มาในสมัยหลังอาจมีความคิดประดิษฐ์แปลงไป เช่นการสร้างเจดีย์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุบางเขน ได้สร้างขึ้นเพื่อไว้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุกับเก็บอัฐิของบุคคลซึ่งทำประโยชน์สำคัญแก่ประเทศชาติ ตามความคิดของรัฐบาลในสมัยนั้น ซึ่งการให้ความสำคัญแก่การบรรจุอัฐิบุคคลในองค์พระเจดีย์ในตอนนั้นนับเป็นเรื่องที่ผู้เขียนเห็นว่าแปลกใหม่ (ซึ่งความคิดเดิมเป็นแนวคิดในการทำเลียนแบบต่างประเทศ) ฉะนั้นเราจึงเห็นว่ารูปแบบและองค์ประกอบของเจดีย์องค์นี้จึงแตกต่างไปจากระเบียบวิธีที่มีมาแต่เดิม เช่นการกลายรูปของบัลลังก์เหนือองค์ระฆัง ซึ่งเป็นส่วนที่แสดงถึงพระเกียรติยศของพระจักรพรรดิราช เป็นต้น
การสร้างเจดีย์ในสมัยปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่มิได้ทำกันได้ง่าย เช่นในสมัยก่อนที่กระทำโดยพระมหากษัตริย์ที่มีความพร้อมในทุกด้านทั้งสรรพกำลังช่าง ฝีมือแรงงาน และกำลังทรัพย์ แม้ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว แต่ด้วยศรัทธาในพุทธศาสนิกชนย่อมยังให้เกิดการออกแบบและก่อสร้างเจดีย์ต่อเนื่องมาอย่างไม่ขาดสาย ทั้งยังมีความหลากหลายในการออกแบบที่ต่างออกไปจากแบบแผนเดิมที่มีมา ซึ่งเป็นสิ่งที่วิวัฒน์ไปตามปกติวิสัยแห่งพุทธวัฒนธรรม หากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังคงโน้มนำศรัทธาให้บังเกิดในหมู่พุทธศาสนิกชน ย่อมสมควรอนุโมทนา และถือเป็นการสืบทอดพระศาสนาให้มั่งคงยั่งยืนสืบไป
อ้างอิงข้อมูลจาก : ตำนานพระพุทธเจดีย์ โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ข้อมูลโดย : ประกิจ ลัคนผจง © กันยายน 2556