ลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่มีพระบรมราชวินิจฉัยในแบบที่สถาปนิกทูลเกล้าถวาย
จะเห็นได้ว่าทรงปรับแก้ไขขนาด ระดับ สัดส่วนองค์พระมหาธาตุเจดีย์ใหม่ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้องค์เจดีย์โดดเด่นมากขึ้น
(ที่มาภาพ :หนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสถาปัตยกรรมไทย,2548 )
พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา
พระมหาธาตุเจดีย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ รัฐอุตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย
สถาปนิก : อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ /วิศวกร : ผศ.บัญชา ชุ่มเกษร
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา เป็นเจดีย์สำคัญซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยผู้มีศรัทธาโดยกลุ่มคณะกรรมการวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ดำริจัดสร้างเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยเชิญสถาปนิก อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสถาปัตยกรรมไทย ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาเป็นผู้ออกแบบ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทรงทราบ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชวินิจฉัยในแบบที่สถาปนิกร่างมา และปรับแก้ไขด้วยพระองค์เองดังปรากฏเป็นลายพระหัตถ์ เพื่อให้สถาปนิกนำมาปรับแก้ไข โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้องค์เจดีย์มีความโดดเด่นสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล แต่คงแนวคิดโดยรวมของสถาปนิกไว้ และยังมีพระบรมราชวินิจฉัยในด้านการตกแต่งและกำหนดสีสันของอาคารด้วย ผลลัพธ์ของงานออกแบบทำให้พระมหาธาตุเจดีย์มีความโดดเด่นตามพระราชประสงค์ สะท้อนซึ่งพระอัจฉริยภาพในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่องานสถาปัตยกรรมไทยอย่างชัดเจน
ที่มาภาพ : ประกิจ ลัคนผจง / วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์
แนวคิดในการออกแบบพระมหาธาตุเจดีย์นี้ สถาปนิกต้องการให้สะท้อนออกซึ่งพัฒนาการความก้าวหน้าแห่งพระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยมานับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน จึงได้นำลักษณะเด่นของเจดีย์ในแต่ละยุคมาเป็นแนวคิดในการออกแบบอาทิ ใช้บัวฝาละมีซ้อนสามชั้นเป็นส่วนรับเรือนธาตุ อันเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยสุโขทัย การใช้เรือนธาตุแบบระฆังคว่ำ มีแนวบัวรอบปากระฆัง ซึ่งพบมากในสมัยอยุธยา และการใช้ปลียอดเป็นแบบบัวกลุ่มซ้อนชั้น อันเป็นลักษณะเด่นของสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนั้นยังได้วางแนวคิดให้พระมหาธาตุเจดีย์องค์นี้สะท้อนออกซึ่งความเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า โดยกำหนดให้ประกอบด้วยเจดีย์เก้าองค์ จัดเรียงอยู่ในตำแหน่งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กล่าวคือ
การจัดวางตำแหน่งพระมหาธาตุเจดีย์องค์ประธานอยู่ตรงกลาง และประกอบด้วยเจดีย์รองทั้งสี่ด้าน ด้านละสององค์ตั้งอยู่บนหลังคาซุ้มพระในแต่ละด้าน ซึ่งโดยปกติการวางตำแหน่งองค์เจดีย์มักจะวางในแนวแกนหลักเท่านั้น ข้อสำคัญคืองานออกแบบชิ้นนี้ได้ถูกกำหนดความสูงรวมไว้ไม่ให้เกินกว่า 19 เมตร เพื่อให้ความเคารพต่อพระสถูปปรินิพพานที่สาลวโนทยาน จึงเป็นเรื่องยากในทางการออกแบบที่จะสามารถออกแบบกลุ่มเจดีย์จำนวนมากภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว ซึ่งในการออกแบบเบื้องต้นนั้น สถาปนิกได้ทำการวางผัง โดยกำหนดขนาดและสัดส่วนให้สัมพันธ์ตามความสูงที่จำกัดนั้น ภายหลังจากการถวายแบบขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยให้ปรับแก้ขนาดเจดีย์องค์กลางให้มีความสูงและใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อย พร้อมทั้งปรับสัดส่วนเจดีย์รายรอบให้สัมพันธ์กัน ซึ่งในลายพระหัตถ์ได้ปรากฏว่าทรงให้ลดความสูงของหลังคาลงด้วย นั่นทำให้ความโดดเด่นขององค์เจดีย์ปรากฏชัดขึ้น เมื่อสถาปนิกปรับแก้ไขแบบตามลายพระหัตถ์แล้วปรากฏว่าพระมหาธาตุเจดีย์มีความงามต้องตามพระราชประสงค์ และสมบูรณ์ด้วยหลักวิชาทางด้านการออกแบบ นับเป็นความน่าทึ่งในพระอัจฉริยภาพแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และความสามารถของสถาปนิกในการปรับแก้ไขแบบให้สัมพันธ์กันไปได้ท้งหมด
ที่มาภาพ : ประกิจ ลัคนผจง
นอกจากนั้นการเปิดพื้นที่ใช้สอยภายในนับเป็นแนวคิดที่มีความชัดเจนมากขึ้น แม้ว่า อ.วนิดา จะมิใช่สถาปนิกคนแรกในการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในให้แก่องค์เจดีย์ แต่ลักษณะที่ว่างภายในเช่นนี้ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นการออกแบบครั้งแรกของวงการออกแบบด้านงานสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งทำให้พื้นที่ภายในที่เคยดูอึดอัดคับแคบ มีความโปร่งสบายมากขึ้น และสร้างที่ว่างอันมีลักษณะพิเศษที่มิได้อยู่ภายใต้ทรงลาดของหลังคาตอนบนแบบเดิม แต่เปิดที่ว่างที่ดูคล้ายการยกหลุมฝ้าในงานออกแบบสมัยใหม่ และปล่อยให้แสงธรรมชาติได้ส่องผ่านเข้ามา เพื่อสร้างบรรยากาศแบบใหม่ ด้วยการผสานงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม เข้ากับงานระบบทางวิศวกรรมซึ่งมี ผศ.บัญชา ชุ่มเกษร เป็นผู้ออกแบบทางโครงสร้างได้อย่างสมบูรณ์ลงตัว กล่าวคือการตัดเสาโครงสร้างภายในออกหนึ่งชุดซึ่งในความเป็นจริงเสาโครงสร้างชุดดังกล่าวจะต้องตั้งขึ้นเพื่อรับโครงสร้างเหนือหลังคาขึ้นไปซึ่งสัมพันธ์กับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมภายนอก ผู้ที่มีโอกาสได้ไปกราบนมัสการพระมหาธาตุเจดีย์องค์นี้อาจไม่รู้สึกว่ามันเกิดความแตกต่างอะไรขึ้นในด้านการออกแบบ แต่จะรู้สึกถึงบรรยากาศที่โปร่งเบาสบายภายใต้หลังคาตอนบนนั้น ทั้งโครงสร้างตรงกลางซึ่งเป็นเสาหลักสี่ต้นขึ้นไปรับโครงสร้างพระเจดีย์ตอนบน ยังถูกออกแบบให้เปิดเป็นเสมือนห้องโปร่งๆ ซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ให้ได้เห็นกันด้วย โดยมีการติดตั้งกระจกตอนบนสะท้อนให้ผู้มากราบไหว้สามารถมองเห็นพระบรมสารีริกธาตุได้แม้ขณะทีนั่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าก็ตาม ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุมานั้น ได้ทรงพระราชทานเส้นพระเจ้ามาด้วย สถาปนิกได้ออกแบบให้อยู่ในระดับภายใต้พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งผู้คนทั่วไปก็สามารถมองเห็นได้เช่นกัน ความน่าสนใจในรายละเอียดของงานออกแบบยังคงมีมากกว่านี้แต่ขอยกไว้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป
จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงสามารถสรุปถึงผลงานออกแบบพระมหาธาตุเจดีย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วัดไทยกุสินาราชิ้นนี้ได้ว่า มีความโดดเด่นและก้าวหน้าทางการออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ อ.วนิดา พึ่งสุนทรที่มักสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า “สถาปัตยกรรมไทยสามารถออกแบบให้สืบสานและสร้างสรรค์ได้” อย่างแท้จริง
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2556
อ้างอิงจาก : หนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับงานศิลปะและการออกแบบ โดย มหาวิทยาลัยศิลปากร ,2550
ข้อมูลโดย : ประกิจ ลัคนผจง © สิงหาคม 2556